ประเด็นร้อน

'โรคร้าย'ไทยป่วยเยียวยา? ''ระบบอุปถัมภ์''ต้นตอคอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ May 11,2017

 เข้าสู่ช่วง "ครึ่งหลัง" กันแล้วสำหรับการบริหารประเทศโดยรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่มีหัวเรือใหญ่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควบตำแหน่งทั้งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560  มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 6 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา

          
หลังจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องร่างกฎหมายลูกอีก 10 ฉบับ ใน มาตรา 267  แต่ขณะเดียวกัน หากกฎหมายลูก 4 ใน 10 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีผลบังคับใช้ มาตรา 268 ก็กำหนดให้ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน โดยไม่ต้องรอให้ประกาศครบทั้งหมด 10 ฉบับ
          
เช่นเดียวกัน..อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 22 พ.ค. 2560 "ครบ 3 ปี" การมาของ คสช. ซึ่งก็ถูกคาดหวังจากประชาชนว่าจะเข้ามา "สะสาง" หลายๆ เรื่องที่รัฐบาลปกติทำไม่ได้ โดยเฉพาะ "คอร์รัปชั่น" ทว่าแม้ช่วงแรกๆ จะเรียกเสียง "ฮือฮา" ได้มาก ด้วยการใช้ "อำนาจพิเศษ" อย่าง มาตรา 44  แต่ท้ายที่สุด ตัวชี้วัดที่ประชาคมโลกยอมรับอย่าง "ดัชนีความโปร่งใสนานาชาติ"(Transparency International-TI) อันดับของไทยยัง "ทรงตัว" ไม่ดีขึ้น อย่างที่ตั้งเป้าไว้ เมื่อบวกกับการถูกนานาชาติมองว่า "ไม่เป็น ประชาธิปไตย" ก็ยิ่ง "ซ้ำเติม" ให้อันดับร่วงลงไปอีก
          
ที่เวทีเสวนา "ติดตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ รร.ดิ เอมเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก ย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในงานนี้ มีวิทยากรจากหลายภาคส่วนร่วม "วิพากษ์" นโยบาย ต่อต้านการทุจริตของรัฐบาล คสช. ทั้ง แง่บวก เป็นผลงานโดดเด่น อาทิ การนำ "สัญญาข้อตกลงคุณธรรม" มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
         
กิตติเดช ฉันทังกูล ผู้แทนสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) อธิบายว่า ข้อตกลงสัญญาคุณธรรม มีลักษณะสำคัญ คือ 1.มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ 2.มีคนกลางเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ร่างสัญญาถึงส่งมอบงาน สามารถตั้งข้อสังเกตให้ คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายต้องชี้แจงได้ มีการทำรายงานส่งไปยัง หน่วยงานกลางของรัฐอย่าง กรมบัญชีกลาง กระทรวง การคลัง หรือคณะรัฐมนตรี ทำให้การดำเนินการต่างๆ รวดเร็ว กว่าการให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สืบสวนเพียงหน่วยงานเดียว
          
"ป.ป.ช. กว่าจะเข้ามา คือต้องมีการจัดซื้อเรียบร้อยแล้วค่อยเข้ามาสืบ กว่าจะขุดคุ้ย กว่าจะตั้งเรื่อง กว่าจะชี้มูลความผิดได้ เรียบร้อย เงินหายหมดแล้ว กระบวนการตรงนี้จึงมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ถามว่าวัดผลได้ไหม? เบื้องต้นคืองบประมาณที่สามารถประหยัดได้"กิตติเดช ระบุ
          
อย่างไรก็ตาม กิตติเดช กล่าวว่า หน่วยงานที่เปลี่ยนมาใช้สัญญาข้อตกลงคุณธรรม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเคยมีปัญหาการทุจริตเสมอไป แต่อาจต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อ "ปรับปรุงประสิทธิภาพ" การจัดซื้อจัดจ้างให้ดีขึ้นก็ได้ เพราะเมื่อขั้นตอนโปร่งใส ก็จะมีภาคเอกชนอยากเข้ามาร่วมประมูลโครงการหลายรายมากขึ้น เกิดการแข่งขัน เท่ากับหน่วยงานรัฐย่อมมีโอกาสซื้อสินค้าได้คุณภาพดี สมกับงบประมาณที่ใช้จ่ายไป แทนที่จะต้อง "ซื้อของเกรดต่ำ ในราคาสูง" อย่างที่ผ่านๆ มา
          
"ยกตัวอย่างโรงงานยาสูบ จริงๆ มีผู้ผลิตเครื่องมวนใบยาสูบหลายเจ้า แต่เดิมเขาซื้อจาก 1-2 เจ้า พอไปเชิญอีก 3-4 เจ้าที่เหลือมา พบว่าเทคโนโลยีดีกว่า ราคาก็ถูกกว่า เขาก็ได้ของดีในราคาถูกลง" ผู้แทน IOD ยกตัวอย่าง
          
สอดคล้องกับที่ ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ตั้งข้อสังเกต "ท่าที" ของ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับปัญหาทุจริตไว้ดังนี้ 1.ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้าง ที่เห็นได้ชัดคือการส่งเสริมให้ใช้ "ข้อตกลงสัญญาคุณธรรม" ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จนปัจจุบันที่ถูกบรรจุไว้ใน พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษ (ซูเปอร์บอร์ด) ขึ้นมาดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐด้วย
          
2.ให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐทั้งผู้บริหารท้องถิ่นและข้าราชการประจำ แม้บางกรณีมี
          
ข้อวิพากษ์วิจารณ์บ้าง เช่น บางคนประชาชนในพื้นที่เห็นควรโดนย้ายแต่กลับรอด และ 3.การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐทั้งผลักดันให้มีการเปิดเผยงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเผยแพร่และทำธุรกรรมต่างๆ กับภาครัฐ การสมัครเป็น ภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership-OGP)ที่ปัจจุบันมีรัฐบาลกว่า 60 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม
          
ทว่าอีกด้านหนึ่ง แง่ลบ ปัญหาเดิมๆ ของทุกยุคสมัย แต่เปรียบเหมือน "กำแพง" ที่สังคมไทยยังไม่อาจก้าวข้าม ดร.มานะ ยกตัวอย่าง "คนใกล้รัฐบาล" บรรดาแม่น้ำสายต่างๆ ที่หลายกรณีก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เช่น กรณีอุทยาน ราชภักดิ์ งบดูงานฮาวาย ตั้งคนในครอบครัวมากินเงินเดือน ในบางองค์กร แม้กระทั่งล่าสุดอย่างการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่สื่อมวลชนเข้าไม่ถึง ทำให้ถูกมองว่า เปิดเผยทุกเรื่องยกเว้น เรื่องของคนใกล้ตัว
          
"อันนี้ก็เป็นเรื่องของระบบอุปถัมภ์ พวกพ้อง อำนาจนิยม ผมมองว่านี่เป็นตัวสำคัญที่ทำให้คะแนนอันดับความโปร่งใส (CPI) ของไทยในปีที่ผ่านมาลดลง"ดร.มานะ กล่าว
          
ประเด็นการช่วยเหลือกันลักษณะนี้ อธึกกิต แสวงสุขสื่อมวลชนชื่อดังเจ้าของนามปากกา "ใบตองแห้ง" อธิบายว่า หากมองตามความเป็นจริง สำหรับผู้มีอำนาจแล้วจำเป็นต้อง "แคร์บางคน" ต้องรักษาบุคคลหรือกลุ่มคนที่เป็น "ฐานอำนาจ" เป็นผู้สนับสนุนตน หากต้องการจะอยู่ ในอำนาจได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่ฆ่าน้อง-ไม่ฟ้องนาย- ไม่ขายเพื่อน" เพราะไม่มีใครที่สามารถอยู่ได้โดยลำพัง ตัวคนเดียว
          
"เพื่อนทำผิด ถ้าคุณทำลายเพื่อนคุณก็อยู่ไม่ได้ นี่คือระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย" อธึกกิต กล่าว
สื่อมวลชนคนดัง กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาเคยมีรายงาน การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม ซึ่งนำเสนอโดย พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ สนช. แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เงียบหาย ไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่ ให้รายละเอียดไว้อย่างดี เช่น การใช้ดุลยพินิจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ไม่ว่าทหาร ตำรวจ พลเรือน ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น
          
"อย่าไปด่านักการเมืองเลยครับ ถ้านายในกรมมี อำนาจแต่ผู้เดียว นักการเมืองเขาก็สั่งผ่านนายคนเดียวได้"อธึกกิต ให้ความเห็น
          
ย้อนไปเมื่อช่วงต้นปี 2560 ที่มีการเปิดเผยอันดับความโปร่งใสของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประจำปี 2559 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ได้เสนอแนะว่า หากไทยต้องการมี "ภาพลักษณ์" ที่ดีในสายตาชาวโลก ต้องทำอะไรๆ มากขึ้น ตั้งแต่
          
1.ใช้แนวทางที่สากลยอมรับ อาทิ เกณฑ์ความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency initiative -CoST) หรือเกณฑ์ความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (Extractive Industries Transparency Initiative-EITI) ซึ่งหลายประเทศให้การรับรอง ถ้านำมาใช้ต่างชาติจะเพิ่มความเชื่อมั่นมากขึ้น 
2.เปิดเผยข้อมูลโครงการต่างๆ ของรัฐ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ       
3.สังคายนากฎหมายครั้งใหญ่ ดูว่าฉบับใดสมควร "ยกเลิก-ปรับปรุง" เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับ สถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป 
4.กลับสู่ประชาธิปไตย โดยเร็ว การเลือกตั้งควรเกิดตาม Road Map โดยเร็ว หรือ ขณะที่ยังไม่มีการเลือกตั้งต้องให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อตรวจสอบรัฐ 
5.เร่งรัด "คดีทุจริต" ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว หากเอาจริงเอาจังอย่างตรงไปตรงมา นี่คือการ "ส่งสัญญาณ" ที่ดีในการปราบคอร์รัปชั่น 
6.อย่า "เกรงใจ" คนรอบข้าง ต่อให้เป็นพวกเดียวกันหากทำผิดต้องไม่ปกป้อง และ 
7.ระวังความสัมพันธ์กับกลุ่มทุน อย่าให้สังคมเกิด "ข้อกังขา" ว่าดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุน พร้อมกับย้ำว่า "ของง่ายๆ ไม่มีแล้ว รัฐบาลทำไปหมดแล้ว หลังจากนี้เป็นของยาก"ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมืองทั้งสิ้น
          
คำถามคือ..ในสังคมไทยที่วัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ "ฝังรากลึก" ไปทั่วทุกภาคส่วน จะมีผู้ "หยุดยั้ง" วงจรนี้ได้จริงหรือ? ไม่ว่ารัฐบาลปัจจุบัน หรือรัฐบาลต่อๆ ไป ในอนาคตก็ตาม!!!

- -สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 - -